ไวอากร้าชิดซ้าย แพทย์แผนจีนมีหนทางรักษาเสื่อมสมรรถภาพทางเพศชาย มีผลวิจัยทั้งสหรัฐฯและเยอรมันยืนยันแน่ชัด ใช้การฝังเข็มปรับปรุงคุณภาพอสุจิ ทำให้ชายแข็งแกร่ง แก้ปัญหาครอบครัวมีบุตรยาก ด้านแพทย์แผนจีนเตือนไวอากร้าที่มีผลข้างเคียงต่อสายตา อาจส่งผลถึงเรื่องตับและไตด้วย เพราะในมุมแพทย์แผนจีน ดวงตาบ่งบอกเรื่องตับและไตในร่างกาย เชื่อมั่นประชุมวิชาการนานาชาติบุรุษเวชศาสตร์ครั้งที่ 3 จะช่วยพัฒนาความแข็งแรงของบุรุษเพศและความสุขครอบครัวไทยได้
นพ.สมชัย โกวิทเจริญกุล สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพคริสเตียน กล่าวว่า จากประสบการณ์การดูแลคนไข้สูติกว่า 20 ปี ส่วนตัวรู้สึกว่าบางโรคในปัจจุบันการแพทย์แผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาให้หายได้ โดยเฉพาะโรคทางผู้ชาย หรือบุรุษเวชศาสตร์ ซึ่งตามธรรมดาร่างกายถึงจุดหนึ่งจะมีความเสื่อมเข้ามาเยี่ยมกรายตามอายุขัย ผู้ชายจะมีปัญหามากในเรื่องของ เชื้ออสุจิไม่สมบูรณ์ มีผลทำให้มีบุตรยาก ซึ่งการแพทย์สมัยใหม่ไม่มีวิธีการรักษาทำให้อสุจิแข็งแรงได้ จึงฉีกแนวหันไปใช้วิธีการทำเด็กหลอดแก้วขึ้นแทน แม้กระทั่งยาไวอากร้า ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่ใช้ในบุรุษเพศที่โฆษณากันว่าจะช่วยทำให้บุรุษเพศมีเชื้ออสุจิแข็งแรง ก็ยังมีผลข้างเคียง
ทั้งนี้ มีรายงานว่า การใช้ยาไวอากร้าทำให้การมองเห็นผิดปกติ และมีปัญหาโรคหัวใจแต่แพทย์แผนจีนมีวิธีการที่แก้ได้ โดยใช้ การฝังเข็ม ซึ่งตรงนี้มีผลการวิจัยรับรองทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา และเยอรมัน พบว่ามีผลทำให้เชื้ออสุจิมีความแข็งแรงและมีคุณภาพที่ดี
บุรุษเวชศาสตร์ เป็นเรื่องที่แพทย์แผนปัจจุบันยอมแพ้ แก้ไขไม่ได้ เราจึงกระโจนไปทำเด็กหลอดแก้วแทน แต่แพทย์แผนจีนใช้การฝังเข็มปรับปรุงเชื้ออสุจิ ทำให้เห็นว่าเราสามารถใช้ศาสตร์ทางเลือกในการรักษาได้ โรงพยาบาลที่ประเทศจีนมีทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีนอยู่ในที่เดียวกัน เปิดโอกาสให้การรักษาควบคู่กันไป และการฝังเข็มเพื่อปรับปรุงเชื้ออสุจินี้เป็นที่ยอมรับในวงการวิจัยของสหรัฐอเมริกาและเยอรมันมาเกือบ 10 ปีแล้ว ผู้ชายเยอรมันจะมีปัญหาเรื่องเชื้ออสุจิไม่แข็งแรงมาก ทำให้ครอบครัวมีปัญหาเรื่องมีบุตรยาก
นายวิทยา บุญวรพัฒน์ นายกสมาคมศาสตร์การแพทย์แผนจีนในประเทศไทย กล่าวว่า กรณีของไวอากร้า ที่มีผลข้างเคียงเรื่องสายตา ในมุมมองแพทย์แผนจีน บอกว่า ดวงตาสะท้อนถึงปัญหาเรื่องของตับและไต กรณีนี้จึงเชื่อว่าจะมีผลกระทบทางตับและไตด้วย ถ้าสายตาเหลือง มีปัญหา
ส่วนในเรื่องสมุนไพรไทยที่เพิ่มสมรรถทางเพศให้แก่เพศชายนั้น ขณะนี้เรายกกระชายดำเป็นตัวเอก ขณะนี้กำลังการมีวิจัยโดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อหาว่ามีสารตัวใดทำให้บุรุษเพศมีความแข็งแกร่ง กล้าหาญ
แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ ถ้าไม่วิจัยให้แน่ชัด การใช้มากเกินไปจะมีโทษ ดังนั้นเราต้องมีการศึกษาต่อไป สมุนไพรที่น่าสนใจอีกตัวคือ กวาวเครือขาว ส่วนใหญ่เข้าใจกันว่าเป็นของสตรีเพศ แต่ครอบครัวจะมีความสุขได้ นอกจากบุรุษแข็งแรงแล้ว สตรีก็ต้องสมบูรณ์ด้วย ผมเชื่อว่าถ้าเปิดโอกาสให้ทั้งแพทย์แผนไทย และจีน มีโอกาสมาศึกษาร่วมกัน จะเกิดประโยชน์อย่างมากกับวงการบุรุษเวชศาสตร์นายวิทยากล่าว
ด้าน น.พ.ชวลิต สันติกิจรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์ไทย-จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ในด้านสุภาพสตรี วิทยาศาสตร์การแพทย์ได้พัฒนาสาขานารีเวชศาสตร์ที่มีความสมบูรณ์ทั้งการส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสมรรถภาพ แต่สำหรับประชนเพศชาย วิทยาศาสตร์การแพทย์ปัจจุบันได้เริ่มมีการรวบรวมสาขาศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยจัดตั้งเป็นสาขาบุรุษเวชศาสตร์(Andrology) เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา สำหรับการดุแลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับความเสื่อมและโรคติดต่อทั้งหลาย นอกเหนือจากแพทยืแผนปัจจุบันแล้ว จากการศึกษาวิจัยพบว่า การแพทย์พื้นบ้านเป็นสาขาที่น่าจะพัฒนาร่วมกับแพทย์แผนปัจจุบันและส่งผลให้การดูแลสุขภาพของบุรุษเพศมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ปัจจุบันทั่วโลกได้ให้ความสนใจและสร้างกระแสการดูแลสุขภาพด้วยวิธีธรรมชาติ ศาสตร์ด้านบุรุษเวชด้วยการแพทย์พื้นบ้านได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อย มีการก่อตั้งสมาคมบุรุษเวช(การแพทย์แผนจีนนานาชาติ)เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีองค์กรสมาชิกจากกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และได้มีการจัดประชุมสัมมนานาชาติในเรื่องบุรุษเวชศาสตร์แล้ว 2 ครั้ง ที่ฮ่องกง และปักกิ่ง และในครั้งที่ 3 นี้ได้ให้ประเทสไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมนานาชาติเรื่องบุรุษเวชศาสตร์ขึ้น และยังถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-จีนด้วย
น.พ.ชวลิต กล่าวต่อ ในการประชุมสัมมนานาชาติครั้งนี้ จะมีประเทศสมาชิก อาทิ ไทย จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ อังกฤษ และอื่นๆ เสนอผลงานการวิจัยที่เกี่ยวกับบุรุษเวชศาสตร์ และบทความวิชาการที่จะสัมมนาเกือบ 300 เรื่อง เนื้อหาในการสัมมนาจะเกี่ยวข้องกับ จุดกำเนิดของบุรุษเวชศาสตร์ สมรรถภาพทางเพศเสื่อม มีบุตรยาก โรคต่อมลูกหมาก โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และอื่น และเปิดโอกาสให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพเผยแพร่ต่อนักวิชาการทั่วโลก งานนี้มีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 30 มิ.ย.-1 ก.ค.2548 ณ หอประชุมองค์การสหประชาชาติ
ที่มา http://www.namjai.com/webboard/aspboard_Question.asp?GID=1328