รักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์หลายครั้งก็ไม่ตั้งครรภ์เสียที จะทำอย่างไร ?
ปัญหาของคู่สมรสที่มีบุตรยากแต่ละรายอาจจะแตกต่างกันไป และมีบางรายได้รับการตรวจหาสาเหตุอย่างละเอียดแล้ว ต่อมาเข้าสู่ขั้นตอนของการรักษาซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น ทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ทำอิ๊กซี่ (ICSI) การเลี้ยงตัวอ่อนถึงระยะบลาสโตซิสท์ (Blastocyst Culture) และได้ใส่ตัวอ่อนกลับหลายครั้งก็ไม่เกิดการตั้งครรภ์ขึ้น หรือมีบางรายตรวจพบฮอร์โมนของการตั้งครรภ์ (B-hCG) เกิดขึ้นแต่ต่อมาฮอร์โมนก็ค่อย ๆ ลดลงและแท้งบุตรในที่สุด ทางการแพทย์จะเรียกว่า “ความล้มเหลวของการฝังตัวของตัวอ่อน (Implantation Failure)” ซึ่งมีหลายสาเหตุ แต่โดยหลัก ๆ แล้วแบ่งได้ 2 สาเหตุ คือ
- สาเหตุจากตัวอ่อน
- สาเหตุจากสตรีที่จะรับการใส่ตัวอ่อน
สาเหตุจากตัวอ่อน เช่น
- คุณภาพของตัวอ่อน คือ อาจจะมาจากพัฒนาการผิดปกติ หรือช้ากว่าปกติด้วยสาเหตุใด ๆ ก็ตาม หรือตัวอ่อนที่มีเปลือกไข่หนา / แข็ง เป็นต้น
- ตัวอ่อนมีความผิดปกติในระดับโครโมโซม
สาเหตุจากสตรีที่จะรับการใส่ตัวอ่อน เช่น
- ความผิดปกติที่มดลูก คือ ภาวะที่มดลูกผิดปกติที่พบบ่อย ๆ ได้แก่ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ที่กล้ามเนื้อมดลูก (Adenomyosis), มีเนื้องอกมดลูกที่ยื่นเข้าไปในโพรงมดลูกและเยื่อบุโพรงมดลูกบางเกินไป เป็นต้น
- ความผิดปกติจากระบบในร่างกายสตรีผู้นั้น เช่น มีการอักเสบเรื้อรังในอุ้งเชิงกราน มีโรคทางอายุรกรรม (ตัวอย่างเช่น ธัยรอยด์เป็นพิษ) เป็นต้น
วิธีการรักษา
ขึ้นอยู่กับการประเมินว่าปัญหาของความล้มเหลวของการฝังตัวของตัวอ่อนในรายนั้น ๆ น่าจะมาจากสาเหตุใด ซึ่งมีวิธีการรักษา ดังนี้เช่น
- การเจาะเปลือกไข่ให้กับตัวอ่อน ไว้ก่อนที่จะใส่กลับเข้าในโพรงมดลูกมารดา ก็อาจจะช่วยให้ตัวอ่อนกะเทาะเปลือกไข่ออกมาฝังตัวในโพรงมดลูกได้ง่ายขึ้น อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเรามักจะเจาะเปลือกไข่ด้วย Laser ให้กับตัวอ่อนก่อนใส่กลับในโพรงมดลูกทุกครั้งอยู่แล้ว

- การทำ PGD (Pre-Implantation Genetic Diagnosis) คือ วิธีการดึงเอาเซลล์ของตัวอ่อนบางส่วนมาตรวจดูความผิดปกติของโครโมโซมดูก่อนและเลือกตัวอ่อนที่มีโครโมโซมปกติเท่านั้นในการใส่กลับเข้าสู่โพรงมดลูก เนื่องจากพบว่าตัวอ่อนจำนวนไม่น้อยจะมีโครโมโซมผิดปกติ และตัวอ่อนเหล่านี้มักจะไม่ค่อยมีการฝังตัวหรือฝังตัวได้เพียงระยะสั้น ๆ ก็แท้งออกมาภายหลัง วิธีการนี้อาจจะช่วยลดจำนวนตัวอ่อนที่ใส่กลับได้และยังทราบเพศหรือทราบว่าเป็นทารกดาวน์ หรือโครโมโซมใดผิดปกติบ้างหรือไม่ ก่อนใส่กลับเข้าโพรงมดลูก ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับว่าจะตรวจโครโมโซมคู่ใดบ้างในโครโมโซมทั้งหมดที่มีอยู่ 23 คู่ ทำให้เมื่อหญิงผู้นั้นเมื่อตั้งครรภ์แล้วอาจไม่จำเป็นต้องเจาะน้ำคร่ำตรวจอีก
- การอุ้มบุญ (Surrogacy) ถ้ามดลูกของผู้ตั้งครรภ์มีความเสียหายมากหรือไม่มีมดลูก เนื่องจากเคยผ่าตัดมดลูกทิ้งด้วยสาเหตุใดก็ตาม การนำตัวอ่อนของผู้ที่เป็นพ่อแม่ที่แท้จริงไปใส่ไว้ในโพรงมดลูกของหญิงอีกคนหนึ่งที่มีมดลูกที่ดี ก็สามารถทำให้ตั้งครรภ์และให้กำเนิดบุตรที่มีพันธุกรรมเหมือนพ่อแม่ที่แท้จริงได้เช่นกัน แต่ต้องมีการเตรียมการที่เหมาะสมก่อน ทั้งความยินยอมทั้ง 2 ฝ่ายและการเตรียมโพรงมดลูกให้มีภาวะที่เหมาะสมกับตัวอ่อนก่อนใส่ตัวอ่อนกลับ
- การแช่แข็งตัวอ่อน ไว้ก่อนแล้วใส่กลับโพรงมดลูก เมื่อเตรียมมดลูกให้อยู่ในภาวะที่พร้อมรับตัวอ่อน ซึ่งมักจะใช้ในรายการต่อไปนี้
- เยื่อบุโพรงมดลูกค่อนข้างบางในรอบที่มีการกระตุ้นไข่
- มีเหตุการณ์ที่ควรจะชะลอการใส่กลับตัวอ่อน เช่น มีการอักเสบ พบติ่งเนื้อในโพรงมดลูก หรือไม่สามารถสอดสายใส่ตัวอ่อนเข้าถึงโพรงมดลูกได้ เป็นต้น
- มีการใส่ตัวอ่อนในรอบที่มีการกระตุ้นไข่หลายครั้งแล้วไม่ตั้งครรภ์ ก็อาจจะแช่แข็งตัวอ่อนไว้ก่อนและลองใส่กลับในรอบที่มีการให้ฮอร์โมนเตรียมเยื่อบุโพรงมดลูกให้หนาดีพอก็อาจช่วยให้อัตราการตั้งครรภ์สูงขึ้นได้
เรียบเรียงข้อมูล :
นพ.ชาญชัย เลาหประสิทธิพร
แพทย์หัวหน้าศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลพญาไท 3
|
Name
(ไทย-อังกฤษ)
|
นายแพทย์ ชาญชัย เลาหประสิทธิพร
|
Dr.Chanchai Laohaprositiporn
|
Specialty
Sub-Specialty
|
สูติ-นรีเวช(Obstetrics and Gynaecology)
รักษาผู้มีบุตรยาก (Infertility)
|
Language
|
ไทย –อังกฤษ
|
Qualifications
|
แพทย์ศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสงขลา
วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสูตินรีเวช สาขารักษามีบุตรยาก
มหาวิทยาลัย Harward สหรัฐอเมริกา
|
เวลาออกตรวจ
|
จันทร์, อังคาร 09.00-16.00 น.
พฤหัสบดี 09.00-20.00 น.
พุธ, ศุกร์, อาทิตย์ 09.00-12.00 น.
|
Click! เพื่อดูข้อมูลเกี่ยวกับโรงพยาบาลพญาไท 3 และรายชื่อแพทย์ท่านอื่นๆ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
ศูนย์รักษาผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลพญาไท 3
โทร.0-2467-1111 ต่อ 3264, 3265
หรือกรอกแบบฟอร์มด้านล่าง