แพทยสภา ชี้ กม.อุ้มบุญบทลงโทษชัดเจน แก้ปัญหาเบิกค่ารักษาพยาบาล-ผสมไข่กับอสุจิผิดวัตถุประสงค์ ลักลอบนำตัวอ่อนทำสเตมเซลล์ กันคนโฆษณารับจ้างท้อง เผย กม.ตีกรอบเลือกเพศลูกไม่ได้แต่ขอดูความผิดปกติได้ แต่หวั่นพ.ร.บ.ถูกดอง-เริ่มนับหนึ่งใหม่เพราะเหตุยุบสภา
ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ... หรือ “กฎหมายอุ้มบุญ” ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยมีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคพ.) มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสุขภาพของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน
วันนี้ (12 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ในฐานะรองประธาน กคพ.กล่าวว่า ที่ผ่านมา ทางแพทยสภามีการออกประกาศแพทยสภา เพื่อควบคุมมาตรฐานการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ โดยเป็นประกาศแพทยสภา ที่ 1/2540 เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ซึ่งมีการกำหนดชัดเจนว่าผู้ที่จะสามารถดำเนินการได้ ต้องเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ และใบรับรองจากราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย และผู้ที่จะรับการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์จะต้องเป็นผู้ที่มีปัญหาเรื่องการมีบุตรยาก รวมไปถึงผู้ที่ยังไม่มีสามีแต่ต้องการมีบุตรก็ได้ด้วย จึงจะขอรับเทคโนโลยีดังกล่าว ส่วนหญิงที่จะรับตั้งครรภ์แทนนั้น จะต้องผ่านการคลอดบุตรมาแล้ว และไม่ใช่หญิงโสด อีกทั้งต้องเป็นผู้ที่ไม่มีสายเลือดใกล้ชิดกันกับคู่สมรสโดยตรง เพื่อตัดปัญหาความผูกพันกับทารก
ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา ปัญหาที่เกิดจากการอุ้มบุญที่พบในเมืองไทย คือ การแย่งเป็นพ่อแม่ที่แท้จริงของเด็ก เพื่อใช้สิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาล และประกาศแพทยสภาฉบับนี้ก็ยังไม่มีบทลงโทษ ซึ่งจะเอาผิดได้เฉพาะแพทย์ ซึ่งต้องรอให้มีผู้ร้องเรียนก่อนจึงจะดำเนินการได้ เมื่อมติครม.ที่ออกมานั้น ตนเชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยรับรองให้กฎหมายใช้ได้จริงและมีการปรับให้ทันสมัยตามเทคโนโลยี
นายกแพทยสภา กล่าวเพิ่มเติมว่า สาระสำคัญของกฎหมายอุ้มบุญ คือ การใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิและไข่ของสามีภรรยาต้องชอบด้วยกฎหมาย หมายความว่า หญิงที่รับอุ้มบุญจะไม่สามารถใช้ไข่ของตัวเองผสมกับอสุจิของพ่อได้ เพื่อป้องกันความผูกพัน โดยเนื้อหาจุดนี้จะช่วยแก้ปัญหาการเบิกค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นปัญหามานาน นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องการใช้ประโยชน์จากอสุจิ และไข่ของเจ้าของที่ฝากไว้และตายลง โดยนำมาทำเป็นสเต็มเซลล์เพื่ออวดอ้างการรักษาโรค ซึ่งผิดกฎหมาย และยังถือเป็นการฆ่าตัวอ่อนด้วย ซึ่งหากร่างกฎหมายฉบับนี้ประกาศใช้จะช่วยแก้การผสมไข่และอสุจิเพื่อวัตถุประสงค์อื่นนอกจากการตั้งครรภ์ได้ รวมทั้งจะเป็นการป้องกันการรับจ้าง และโฆษณารับอุ้มบุญด้วย หากไม่ปฏิบัติตาม จากนี้ไปจะมีบทลงโทษตามความผิดที่แตกต่างกันไป เช่น จำคุกตั้งแต่ 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ไปจนถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่สามารถประกาศใช้ได้ทันที เนื่องจากต้องรอการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรก่อน คาดว่าต้องใช้เวลานาน และหากมีการยุบสภาก็ต้องกลับมาเริ่มกระบวนการพิจารณาใหม่อีกครั้ง
“ปัจจุบันมีสูตินรีแพทย์ด้านเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ราว 100 คนก็จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่จะออกมา รวมทั้งพ่อแม่ และหญิงรับอุ้มบุญด้วย คนที่จะรับอุ้มบุญต้องไม่ใช่คนรับจ้าง หรือญาติสายตรงกับหญิงที่ขอให้มีการตั้งครรภ์แทน และตามคำประกาศแพทยสภาฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่าพ่อแม่ที่ขอให้มีการอุ้มบุญจะเลือกเพศเด็กไม่ได้เพราะเกือบทุกคู่คงอยากได้ลูกผู้ชายทั้งหมด ดังนั้นเพื่อเป็นการควบคุมอัตราส่วนประชากรเราจึงให้เลือกเพศไม่ได้ แต่สามารถขอดูความผิดปกติของเด็กหลังการผสมได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
12 พฤษภาคม 2553 17:02 น.