 |
คริสตัล เคลลี่ หญิงสาวชาวอเมริกันวัย 29 ต้องการเงินและอยากช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหามีบุตรยาก จึงรับจ้างอุ้มบุญให้คู่สามีภรรยาคู่หนึ่งซึ่งมีบุตรแล้วสามคน และต้องการจะมีคนที่สี่ สามีภรรยาคู่นี้เคยมีบุตรจากการทำ IVF มาก่อนและยังมีตัวอ่อนแช่แข็งเก็บไว้อีกสองตัว เมื่อตกลงกันได้ กระบวนการอุ้มบุญจึงเริ่มขึ้นด้วยการฝังตัวอ่อนเข้าไปในมดลูกของเคลลี่ สิบวันต่อมา ผลการตรวจพบว่าเคลลี่ตั้งครรภ์ ทุกคนที่เกี่ยวข้องดีใจมากกับความสำเร็จครั้งนี้
เรื่องนี้ควรจะ happy ending สำหรับทุกฝ่าย ถ้าไม่เป็นเพราะมีการตรวจพบด้วยอัลตร้าซาวด์ในขณะที่ตั้งครรภ์ได้ 21 สัปดาห์ซึ่งปรากฎว่าทารกในครรภ์ของเคลลี่มีความผิดปกติ ทารกที่จะเกิดมาพร้อมกับลักษณะของปากแหว่ง เพดานโหว่ มีซีสต์ในสมอง และหัวใจมีความผิดปกติที่ซับซ้อน แพทย์วินิจฉัยว่าทารกที่จะเกิดมาจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจหลายครั้ง มีโอกาสรอด แต่มีความเป็นไปได้เพียง 25% ที่จะสามารถใช้ชีวิตได้อย่าง "ปกติ"
คู่สามีภรรยาผู้ว่าจ้างต้องการให้เคลลี่ยุติการตั้งครรภ์ เพราะไม่ต้องการให้ทารกเกิดมาพร้อมกับความทุกข์ทรมาน พ่อแม่ที่แท้จริงของทารกคิดว่าเคลลี่ควรจะทำมีความกรุณาต่อทารกด้วยการปลดปล่อยทารกไปเสีย แต่เคลลี่ตอบว่า พวกเขาเลือกเธอเพื่อให้อุ้มท้องและปกป้องทารกคนนี้เอง ไม่มีทางที่เธอจะทำแท้งโดยเด็ดขาด
สองสามวันถัดมา บริษัทที่เป็นนายหน้าจัดการเรื่องการอุ้มบุญมีจดหมายแจ้งเคลลี่ว่าถ้าเคลลี่ยืนยันที่จะรักษาเด็กไว้ ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นพ่อแม่ที่แท้จริงจะไม่ยอมรับเป็นพ่อแม่ของเด็กตามกฎหมาย
เคลลี่จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียวว่าจะให้เด็กคนนี้เกิดมาหรือไม่
เคลลี่ไม่ได้ต้องการเป็นแม่ของเด็กคนนี้ เธอยอมตั้งครรภ์เพราะต้องการช่วยเหลือให้คนอื่นมีลูก เธอไม่ได้ต้องการมีลูกอีกคน บริษัทนายหน้าให้อีกทางเลือกหนึ่งกับเธอ คู่สามีภรรยาผู้ว่าจ้างยินดีจะจ่ายให้เธอ 10,000 USD หากเธอยอมทำแท้ง
ข้อเสนอนี้เป็นเหมือนบททดสอบความเชื่อมั่นของเคลลี่ เธอต่อต้านการทำแท้งมาโดยตลอด เพราะมีความเชื่อทางศาสนาและเหตุผลทางศีลธรรม แต่เธอก็ต้องการเงินเป็นอย่างยิ่ง เคลลี่ เป็น Single Mom ที่ต้องเลี้ยงลูกสองคนเพียงลำพัง ก่อนที่จะตกลงรับจ้างอุ้มบุญครั้งนี้ เธอเพิ่งจะตกงาน ขณะนี้เธอมีรายได้เพียงแค่ค่าดูแลบุตรที่ได้จากพ่อของลูกสาวของเธอ และค่าจ้างอุ้มบุญเดือนละ 2,222 USD ซึ่งเธอจะไม่ได้รับอีกต่อไปเพราะเกิดเหตุการณ์พิพาทนี้ขึ้น
ตัวแทนนายหน้าวาดภาพให้เคลลี่เห็นว่าชีวิตข้างหน้าของเธอจะเป็นอย่างไร ถ้าเธอจะต้องดูแลเด็กที่เกิดมาพร้อมความต้องการพิเศษอีกคนหนึ่ง มันจะเจ็บปวดและทุกข์ทรมานแค่ไหน สร้างความเครียดและกดดันเพียงไร เธอจะต้องหมดตัว และลูกทั้งสองของเธอเองจะต้องพลอยเดือดร้อนและได้รับความลำบากไปด้วย
เคลลี่รู้สึกแย่และอ่อนแอเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ เธอยื่นข้อเสนอกลับไปว่าถ้าได้ 15,000 USD เธออาจจะยอมยุติการตั้งครรภ์
แต่หลังจากนั้นเธอก็รู้สึกเสียใจที่พูดไปแบบนั้น
ตัวแทนนายหน้าแจ้งว่าผู้ว่าจ้างปฏิเสธที่จะจ่ายเงิน 15,000 USD แต่ณ เวานั้น มันก็ไม่สำคัญอีกต่อไปสำหรับเคลลี่ เธอตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะไม่ทำแท้ง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตัวแทนนายหน้าส่งอีเมล์มาถามเธอถึงกำหนดนัดในการทำแท้ง เคลลี่ตอบไปเพียงคำเดียวว่า "ไม่"
|
.jpg) |
.jpg) |
หลังจากนั้นเคลลี่ได้รับจดหมายจากทนายของผู้ว่าจ้าง แจ้งให้เธอทราบว่าเธอมีพันธะผูกพันในสัญญาที่จะต้องยุติการตั้งครรภ์ในทันที เพราะในสัญญาว่าจ้างระบุให้เธอตกลงยินยอมที่จะ "ทำแท้งในกรณีที่ทารกในครรภ์มีความผิดปกติขั้นรุนแรง" แต่สัญญาไม่ใช้ชี้ชัดว่าความผิดปกขั้นรุนแรงนั้นครอบคลุมอะไรบ้าง
หากเคลลี่ไม่ทำแท้ง เท่ากับเธอมีเจตนาละเมิดสัญญา และผู้ว่าจ้างจะฟ้องร้องเธอเพื่อเรียกคืนค่าจ้างอุ้มบุญที่จ่ายไปแล้วประมาณ 8,000 USD พร้อมทั้งค่ารักษาและใช้จ่ายในการดำเนินการทางกฎหมาย
จดหมายที่ได้รับ ทำให้เคลลี่ตัดสินใจว่าถึงเวลาแล้วที่เธอจะต้องมีทนายของตนเอง ไมเคิล เดอพริโม ทนายในคอนเนคนิกัตตกลงรับว่าความให้เธอโดยไม่คิดเงิน เขาบอกว่า ไม่ว่าสัญญาจะระบุไว้อย่างไร ก็ไม่มีใครสามารถบังคับให้เธอทำแท้งได้
แต่คดีนี้ก็ยังไม่จบลงง่ายๆ เดอพริโมได้รับการติดต่อจากทนายของผู้ว่าจ้าง แจ้งว่าทั้งคู่เปลี่ยนใจ และต้องการเรียกร้องสิทธิในการปกครองของทารกที่จะเกิดมา แล้วหลังจากนั้นพวกเขาจะยกทารกให้อยู่ในความดูแลของรัฐคอนเนคติกัต
เดอพริโมอธิบายว่า ภายใต้กฎหมายของคอนเนคติกัต ผู้ว่าจ้างเป็นพ่อแม่ตามกฎหมายของทารก ไม่ใช่เคลลี่ และพวกเขามีสิทธิที่จะยกทารกที่อายุไม่ถึงเดือนให้รัฐเป็นผู้ดูแลได้โดยไม่ผิดกฎหมาย
เคลลี่รู้สึกอยู่ในสภาพจนตรอก เธอไม่อยากให้ทารกต้องไปอยู่ในสถานเลี้ยงดูเด็กกำพร้าแบบนั้น
ทนายบอกว่าเธออาจจะต่อสู้ในศาลเพื่อเรียกร้องสิทธิในการปกครองเด็กคนนี้ก็ได้ แต่ไม่มีทางชนะ เพราะตามกฎหมายของคอนเนคติกัตระบุไว้ชัดเจนว่า พ่อแม่ที่เป็นเจ้าของไข่และสเปิร์มเท่านั้นที่มีสิทธิตามกฎหมาย ไม่ใช่คนที่อุ้มท้อง
เคลลี่มีอีกทางเลือกหนึ่งก็คือ ต้องย้ายไปอยู่ในรัฐที่กฎหมายให้สิทธิความเป็นแม่กับผู้ที่อุ้มท้อง ไม่ใช่พ่อแม่ที่เป็นเจ้าของไข่และสเปิร์ม
เมื่ออายุครรภ์ได้ 7 เดือน เคลลี่กับลูกจึงย้ายไปอยู่ที่มิชิแกนซึ่งเป็นรัฐที่ให้สิทธิความเป็นแม่แก่ผู้ที่อุ้มท้อง และยังมีโรงพยาบาลสำหรับรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจเด็กที่ดีที่สุดอีกด้วย
ยังมีอีกเรื่องที่เคลลี่ต้องตัดสินใจก็คือ เธอจะรับเลี้ยงดูเด็กคนนี้เองหรือไม่ เคลลี่เป็น Single Mom และไม่มีงานทำ แม้จะรู้สึกผูกพันกับทารกในท้อง แต่ในที่สุดเธอก็ตัดสินใจหาพ่อแม่บุญธรรมให้กับทารกที่จะเกิดมา
เคลลี่ไม่ได้รับการติดต่อจากพ่อแม่ที่แท้จริงของทารกอีกเลย จนกระทั่งหนึ่งเดือนก่อนกำหนดคลอด พวกเขายื่นฟ้องศาลในคอนเนคติกัตเพื่อเรียกร้องสิทธิของความเป็นพ่อแม่ของทารก ในเอกสารทางกฎหมายนั้นเปิดเผยความจริงที่น่าตกใจอีกประการก็คือ ฝ่ายภรรยานั้นไม่ได้เป็นแม่ที่แท้จริง ไข่ที่ใช้ในการผสมนั้นเป็นไข่จากผู้บริจาคที่ไม่ระบุตัวตน ทำให้คดีนี้ซับซ้อนยิ่งขึ้นไปอีก
เมื่อทารกคลอดในวันที่ 25 มิถุนายน ทนายของทั้งสองฝ่ายยังคงเจรจาตกลงกันไม่ได้ ทารกน้อยคลอดครบกำหนด มีน้ำหนัก 6 ปอนด์ 9 ออนซ์ แต่ไม่หายใจ ตัวอ่อนปวกเปียก และเป็นสีคล้ำ อัตราการเต้นของหัวใจต่ำมากเข้าขีดอันตราย
หมอต้องปั๊มออกซิเจนเข้าไปในปอดเล็กๆ ของเธอ เวลาผ่านไป 20 วินาที อัตราการเต้นหัวใจก็เป็นปกติ ทารกน้อยหายใจได้เอง ร้องเสียงดัง ร่างกายเริ่มมีสีสันเป็นปกติ
สูติบัตรของทารก ระบุชื่อมารดาคือเคลลี่ โดยเว้นว่างชื่อของบิดาเอาไว้
สามสัปดาห์ถัดมา ทั้งสองฝ่ายก็ตกลงกันได้ ผู้เป็นพ่อที่แท้จริงขอยกเลิกการเรียกร้องสิทธิการเป็นพ่อแม่ของตนโดยแลกกับการที่ครอบครัวของพ่อแม่บุญธรรมยินยอมให้มีการติดต่อและรับรู้ถึงสุขภาพของทารกน้อยได้
หลังจากนั้นคู่สามีภรรยาผู้ว่าจ้างก็มาเยี่ยมทารกน้อย ผู้เป็นพ่อที่แท้จริงอุ้มเธอไว้ในอ้อมอก
"พวกเขาห่วงใยถึงสุขภาพและอาการของเธอ พวกเขาแคร์จริงๆ" แม่บุญธรรมเล่าให้ฟัง
พ่อแม่บุญธรรมเรียกทารกน้อยว่า Baby S ปัญหาทางสุขภาพของ Baby S ยาวเป็นหางว่าว เธอต้องได้รับการรักษาและผ่าตัดอีกหลายครั้ง เคลลี่ได้รับทั้งคำชื่นชมจากผู้ที่เห็นด้วย และคำก่นด่าจากผู้ที่ไม่เห็นด้วย แต่ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ทุกคนก็คงจะเอาใจช่วยให้ Baby S มีสุขภาพแข็งแรงและพัฒนาการดียิ่งๆ ขึ้นไป