คลอด กม.อุ้มบุญให้ผัว-เมีย ทำ ห้ามหญิงอื่นใช้ไข่ผสมอสุจิพ่อ
ครม.คลอด กม.อุ้มบุญ ให้ทำได้ในคู่ผัว-เมีย ที่จดทะเบียนสมรสเท่านั้น ห้ามใช้ไข่ของหญิงที่รับเป็นแม่อุ้มบุญผสมอสุจิของพ่อ ป้องกันความรู้สึกผูกพัน พร้อมตั้ง กก.คุ้มครองเด็กอุ้มบุญ มีปลัดสธ. เป็นปธ.
นพ.ภูมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 11 พ.ค.ว่า ครม.เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ..... หรือ “กฎหมายอุ้มบุญ” ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอมา หลังจากนี้ ให้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายคือ 1.กำหนดให้ศาลเยาวชนและครอบครัว มีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีที่เกี่ยวกับความเป็นบิดามารดาของผู้ที่เกิดโดยอาศัยการอุ้มบุญ และกำหนดให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยในกรณีที่มีปัญหาว่าคดีใดอยู่ในเขตอำนาจของศาลเยาวชนและครอบครัว หรือศาลยุติธรรมอื่น
นพ.ภูมินทร์ กล่าวอีกว่า 2.กำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคพ.) โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน มีนายกแพทยสภาเป็นรองประธานกรรมการ ส่วนกรรมการโดยตำแหน่งมี 6 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่แต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอีก 5 คน 3.กำหนดให้การผสมเทียมต้องกระทำต่อหญิงที่มีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วเท่านั้น และต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีการใช้อสุจิจากผู้บริจาค
รองโฆษกฯ กล่าวต่อไปว่า 4.กำหนดวิธีการดำเนินการตั้งครรภ์แทนไว้ 2 กรณี คือ 1.การใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิและไข่ของสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทน และ 2.การใช้ตัวอ่อนที่เกิดจากอสุจิหรือไข่ของสามี หรือภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายที่ประสงค์จะให้มีการตั้งครรภ์แทน กับอสุจิหรือไข่ของผู้อื่น ซึ่งหมายความว่าต่อไปหญิงที่รับอุ้มบุญไม่สามารถใช้ไข่ของตัวเองผสมกับอสุจิของพ่อโดยกฎหมายได้ เพื่อป้องกันความรู้สึกผูกพัน
นพ.ภูมินทร์ กล่าวต่อว่า 4.กำหนดให้แพทยสภาโดยความเห็นชอบของ กคพ.ประกาศกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาสุขภาพของหญิงที่รับตั้งครรภ์แทนในขณะตั้งครรภ์ การคลอด และหลังคลอด 5.กำหนดความเป็นบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ไว้เป็นการเฉพาะ และให้ผู้มีส่วนได้เสียมีอำนาจร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้ปกครองได้ กรณีที่สามีและภริยาที่ประสงค์ให้มีการตั้งครรภ์แทนถึงแก่ความตายก่อนเด็กเกิด 6. ห้ามใช้ประโยชน์จากอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนที่ฝากไว้ในกรณีที่เจ้าของอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนดังกล่าวตายลง ยกเว้นเจ้าของให้ความยินยอมเป็นหนังสือไว้ก่อนตาย และต้องใช้อสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อนเพื่อบำบัดรักษาภาวะการมีบุตรยากของสามีหรือภริยาที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 11 พฤษภาคม 2553 18:10 น.